อาณาจักรโบราณ

อาณาจักรโบราณในดินแดนไทยและอิทธิพลที่มีต่อสังคมไทย ดินแดนไทยปัจจุบันเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณหลายแห่ง ดังพบหลักฐานอยู่ในรูปของศิลาจารึก ตำนาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ อาณาจักรโบราณที่สำคัญมีดังนี้
1) อาณาจักรเจนละ (พุทธศตวรรษที่ 12-13) เป็นอาณาจักรเขมรโบราณที่เจริญรุ่งเรืองต่อจากอาณาจักรฟูนัน (ราวพุทธศตวรรษที่ 6-11) และมีอิทธิพลอยู่บริเวณปากแม่น้ำโขงในกัมพูชาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและภาคใต้ของลาว ได้รับอารยธรรมจากอินเดีย อาณาจักรเจนละซึ่งมีศูนย์กลางอยู่แถบปากแม่น้ำมูล ได้ขยายอิทธิพลเหนือแว่นแคว้นต่าง ๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงในกัมพูชา ภาคตะวันออกและภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ดังพบศิลาจารึกระบุพระนามกษัตริย์เจนละและบทบาททางการเมืองที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และที่ช่องสระแจง จังหวัดเพชรบูรณ์
2) อาณาจักรขอมหรืออาณาจักรเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 11-19) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนคร ได้ขยายอำนาจมายังบริเวณปากแม่น้ำโขง กัมพูชา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของไทย และสืบอำนาจต่อจากอาณาจักรเจนละ อาณาจักรขอมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก รับวัฒนธรรมจากอินเดีย มีการปกครองแบบเทวราช และใช้ระบบจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพระพุทธศาสนานิกายมหายาน มีการสร้างเทวรูปและปราสาทหิน ที่สำคัญคือนครวัด นครธม ส่วนในดินแดนไทยมีศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลเขมรอยู่ทั่วไป เช่น ปราสาทหินพิมายที่จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์และพระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
3) อาณาจักรตามพรลิงค์ (พุทธศตวรรษที่ 7-19) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศูนย์กลางการติดต่อจากดินแดนภายนอก คือ อินเดียและลังกา จากการติดต่อค้าขายกับต่างแดน ทำให้ได้รับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามา และได้รับเผยแผ่ไปยังสุโขทัย ล้านนา และหัวเมืองอื่น ๆ
4) อาณาจักรลังกาสุกะ (พุทธศตวรรษที่ 10-18) จากจดหมายเหตุจีนระบุว่า อาณาจักรลังกาสุกะมีอาณาเขตจรดทะเลอันดามันและอ่าวไทย อยู่ทางใต้ของอาณาจักรตามพรลิงค์ สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองปัตตานี ดังปรากฏซากเมืองโบราณที่อำเภอยะรัง อาณาจักรลังกาสุกะเคยส่งทูตไปจีนเมื่อ พ.ศ. 1052 บันทึกจีนระบุว่าอาณาจักรนี้มีกษัตริย์ปกครอง
5) อาณาจักรศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-19) ศูนย์กลางอาจอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยในดินแดนไทยนั้นอยู่ที่เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเติบโตมาจากการเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลเมืองไชยารับนับถือทั้งสามศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งของภาคใต้
6) อาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) เป็นชุมชนที่พัฒนาขึ้นเป็นแคว้นแรก ๆ ในดินแดนไทย จดหมายเหตุจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า 'โถโลโปตี้' สันนิษฐานว่าศูนย์กลางของทวารวดีอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ เมืองนครชัยศรี (หรือเมืองนครปฐมโบราณ) จากการขุดพบเหรียญเงิน 2 เหรียญ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ที่จังหวัดนครปฐม มีจารึกภาษาสันสกฤตว่า 'ศรีทวารวดีศวรปุณยะ' แปลว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี หรือบุญของผู้เป็นเจ้าแห่งศรีทวารวดี หรือพระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ ร่องรอยของเมืองโบราณที่ได้รับอิทธิพลทวารวดีพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เช่น เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี อาณาจักรทวารวดีได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียโบราณส่วนใหญ่สร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนา อาณาจักรทวารวดีเสื่อมอำนาจลงเมื่ออาณาจักรเขมรขยายอำนาจมายังบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของดินแดนไทยเรื่อยมาจนถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
7) อาณาจักรละโว้ (พุทธศตวรรษที่ 12-18) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้หรือลพบุรี ละโว้มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี จึงมีความอุดมสมบูรณ์และสะดวกในการเดินทาง ทำให้มีการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าต่างถิ่นในสมัยโบราณพ่อค้าจีนกับอินเดียเข้ามาค้าขายกับละโว้ ซึ่งจีนเรียกว่า 'เมืองหลอหู' ละโว้รับวัฒนธรรมจากสองอาณาจักร คือ รับวัฒนธรรมมาสองอาณาจักร คือ รับพระพุทธศาสนาจากทวารวดี รับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพระพุทธศาสนานิกายมหายานจากขอม พระปรางค์สามยอดเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นในสมัยที่อาณาจักรขอมปกครองละโว้ ต่อมาละโว้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา
8) อาณาจักรหริภุญชัย (พุทธศตวรรษที่ 14-19) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหริภุญชัยหรือลำพูน เรื่องราวของอาณาจักรหริภุญชัยปรากฏอยู่ในตำนานจามเทวีวงศ์หรือตำนานเมืองหริภุญชัยและตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ มีความเจริญด้านพระพุทธศาสนา ใช้ภาษามอญโบราณในศิลาจารึกโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองลำพูน เช่น วัดจามเทวี พระธาตุหริภุญชัย อาณาจักรหริภุญชัยถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในสมัยพระยามังรายมหาราช
9) อาณาจักรล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 19-25) ผู้ก่อตั้งล้านนา คือ พระยามังรายมหาราช (พ.ศ. 1804-1854) ล้านนามีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่หรือเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 1893 อาณาจักรล้านนามีความเจริญรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แบบสุโขทัย มีการสังคายนาพระไตรปิฎก สร้างวัดและพระพุทธรูปจำนวนมาก มีตัวหนังสือของตนเอง เรียกว่า 'อักษรธรรมล้านนาหรืออักษรตัวเมือง' ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายและตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน มีกฎหมายมังรายศาสตร์ ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรอยุธยาบ้าง พม่าบ้าง และบางครั้งก็เป็นอิสระ เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมอาณาจักรล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย
อิทธิพลของอาณาจักรโบราณในสังคมไทย อิทธิพลของอาณาจักรโบราณต่อสังคมไทยที่เห็นชัดเจน คือ การนับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันและมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนบนผืนแผ่นดินไทย เช่น การสร้างสรรค์พระพุทธรูปที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละสมัย และเจดีย์รูปแบบต่าง ๆ เช่น เจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ในสมัยสุโขทัย เจดีย์ทรงลังกาที่ได้รับอิทธิพลจากลังกาและนครศรีธรรมราช เจดีย์ทรงปรางค์ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมร วรรณกรรมในพระพุทธศาสนา เช่น ไตราภูมิพระร่วง มหาชาติคำหลวง ตลอดจนประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เป็นต้น สำหรับศาสนาพรามหมณ์-ฮินดูก็ได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยด้วยเช่นกัน แม้จะไม่มากเท่าพระพุทธศาสนาก็ตาม เช่น การสร้างเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ หรือโบราณสถานศาลตาผาแดงในสมัยสุโขทัย คติความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ พระราชพิธีต่าง ๆ ในสมัยอยุธยา พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และในสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีต่าง ๆ ในสมัยอยุธยา พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญก็ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ที่มา ที่มาและได้รับอนุญาตจาก : ศิริพร ดาบเพชร คมคาย มากบัว และประจักษ์ แป๊ะสกุล.ประวัติศาสตร์ไทย ม.4-ม.6. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 10.86 KBs
Upload : 2017-06-26 15:55:11
|
|
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
|
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
|
|
|